สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                              Diarrhea    

                                                                      ตอนที่ 7

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

  

Peptic Disease โรคกระเพาะ

          สองอาทิตย์ที่แล้วเขียนถึงเรื่องกระเพาะอักเสบและเป็นแผล อาการที่สำคัญที่เป็นคือเจ็บแถวกระบังลมหรือลิ้นปี่ Epigastric Pain แต่แปลกคือว่ามีถึง 20% ที่ไม่มีอาการเจ็บปวดเลย แล้วอยู่ ๆ วันดีคืนดีก็เส้นเลือดแตกเลือดออก เหมือนน้าผู้ชายผมอย่างนั้นแหละ อาการปวดท้องบางรายก็เกิดก่อนกินอาหาร บางรายก็หลังอาหาร บางรายก็ต้องรีบแก้ปวดด้วยการกินอาหาร ดื่มนมสด หรือไม่ก็พวกยาลดกรด Antacid บางรายจะเจ็บท้องตอนกลางคืน และปวดอยู่ได้จนนอนไม่หลับ บางรายก็เป็น ๆ หาย ๆ เป็นสักระยะหนึ่ง กินยาหรือไม่กินยาก็หายเอง แล้วก็เป็นใหม่เป็นเดือน

              คนที่เป็นโรคนี้นานส่วนมากจะมีโลหิตจางด้วย และเคยอุจจาระเป็นสีดำบ่อย ๆ (คนฝรั่งเวลาเขาถ่ายอุจจาระ พอมีกลิ่นออกเขาก็กดชักโครกทันที เลยไม่เคยมีโอกาสเห็นเงาของอุจจาระของตัวเอง ไม่เหมือนคนเอเชีย ต้องถ่ายเสร็จเช็ดก้นเรียบร้อยแล้วถึงชักโครก ยิ่งพวกนั่งยอง ๆยิ่งเห็นชัดใหญ่ พวกนี้ก็จะมีโอกาสเห็นสีสรรของที่ถ่ายออกมา ก็จะบรรยายให้หมอฟังได้ดีกว่า) พวกหน้าซีด ๆ ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะถูกถามถึงประจำเดือนมามากน้อยขนาดไหน ถ้าปรกติหมอเขามักจะถามถึงเรื่องอุจจาระเสมอไป ส่วนผู้ชายก็มักถามว่าเป็นโรคกระเพาะหรือเปล่า

          ผมมีคนไข้ผู้หญิงหนึ่งราย มาหาผมครั้งแรก คนไข้มาจากแถวฮอลลีวูด เดิมทำงานเป็นแม่ครัวแถวชิกาโก แล้วต้องลาออกเพราะไม่มีแรงยืนทำงานทั้งวัน เลยย้ายมาหางานทำเป็นคนเลี้ยงเด็กให้บ้านคนไทยที่แอลเอ

นายจ้างเขาพามาหา เพราะป่วยด้วยอาการหน้ามืด ตอนมาหามือถือขวดยาดมแปะฮวยอิ๊วมาด้วย หน้าเหลือง ๆ ซีด ๆ เหมือนกระดาษชำระก้นสมัยพระเจ้าเหานั่นนะ แกมีปวดท้องบ่อย กินยาพวกลดกรดเสมอ อุจจาระบางครั้งก็เป็นสีดำ ประจำเดือนก็มาประจำ  แกยังเป็นโสดอยู่ เลือดประจำเดือนมาบางครั้งก็ออกมากเป็นลิ่ม ๆ เป็นอยู่อย่างนี้เป็นปีสองปีแล้ว เพื่อนผู้หวังดีก็แนะนำให้กินยาธาตุเหล็ก อาการก็ไม่ดีขึ้น เอ! ท่าทางไม่ค่อยดี ตรวจร่างกายก็มีชีพจรเต้นเร็วมาก แถมฝ่าเท้าและหน้าแข้งบวมนิด ๆ  Pretibial Edema เนื้อเยื่อทั้งหลายที่เห็นได้ตาเปล่า เช่นใต้หนังตา ริมฝีปาก ฝ่ามือ ใต้เล็บซีดไปหมด เจออีท่านี้ ผมก็ต้องเจาะเลือดแดง และจำนวนของเลือดแดงด้วย Hemoglobin and Hematocrit ทั้งสองตัวนี้บอกว่าขาดเลือดมาก เท้าบวม้วยแสดงว่าหัวใจชักทำงานไม่ค่อยดี Congestive Heart Failure

 เอาละซีจะต้องส่งคนไข้เข้าโรงพยาบาลแหง ๆ เลย แต่จะเอาแผนกไหนดี คือเกี่ยวกับโรคกระเพาะคือแผลกระเพาะเลือดออกมานานและมากหรือโรคมดลูกตกเลือดมาก เพราะยังไงยังไงต้องไปให้เลือดกันละ Blood Transfusion พอบอกว่าจะให้เข้าโรงพยาบาลเท่านั้น นายจ้างที่พามาและคนไข้ต่างขอไปคิดดูก่อน นายจ้างก็กลัวเสียสตางค์ ลูกจ้างก็ไม่มีใบเขียว กลัวไอ้เกย์จะส่งกลับเมืองไทย แม้จะอธิบายอย่างไรว่าทางรัฐเขาจะต้องช่วย เขาไม่ปล่อยให้ตายหรอก พูดยังไงก็ไม่ยอมไปเด็ดขาด สุดท้ายก็กลับบ้านไปดมยาดมต่อ

ผมก็ไม่พบคนไข้หรือนายจ้างอีกต่อไป เพียงแต่วันรุ่งขึ้นเมียนายจ้างโทรมาถามว่าโรคนี้จะติดต่อลูกเล็กเขาได้หรือเปล่า แถมบอกว่า แม่ครัวคนนี้ได้ลาออก(ถูกออก)ไปเอง สองอาทิตย์ต่อมา คนไทยที่เขาแนะนำให้คนไข้มาหาผม เล่าให้ฟังว่า แม่ครัวพอลาออกจากงานก็ไปอยู่กับเพื่อน แล้วก็เป็นลมสลบไป เพื่อนเลยเรียกรถฉุกเฉินมาดู เมดิค Medics เห็นอาการหนักจะพาไปส่งโรงพยาบาล คนไข้ก็ไม่ยอมไปอีก เพราะคิดว่าอาการดีขึ้น อีกสองวันต่อมาเป็นอีก ครานี้รถฉุกเฉินมาตรวจแล้ว บอกว่าตายเสียแล้ว เพราะหัวใจวายจากขาดเลือดอย่างมาก ผมฟังแล้วเศร้ามาก แล้วยังอนาถใจมากขึ้นเมื่อพรรคพวกเอาหนังสือพิมพ์แถวแอลเอมาให้อ่านว่าหมอไทยที่ลองบีชรักษาคนไข้คนไทยจนตาย เห็นหรือยังนักหนังสือพิมพ์เฮงซวยนั่นมีมาก ขอให้ขายข่าวได้เท่านั้นเอง ไม่เคยสอบถามให้รู้เรื่อง ว่าเป็นมาอย่างไร ผมคิดว่าแม่ครัวคนนั้นคงตายจากเลือดตกจากมดลูก Menorrhagia เสียเลือดมากกว่าจากกระเพาะอาหาร ถ้าผมวิเคราะห์ไม่ผิด

          เรื่องปวดกระเพาะอาหารนั้น อาจจะไปปะปนหรือมีโรคอื่นที่มีอาการเหมือนกัน คือ GERD Gastro-esophageal reflux disease คือโรคนี้ทำให้เกิดปวดร้อนที่หน้าอกหรือหัวใจ ฝรั่งเขาถึงเรียกว่า Heart burn โรคมะเร็งของกระเพาะ โรคประสาทของระบบอาหาร โรคถุงน้ำดีอักเสบ เป็นต้น

  โรคกระเพาะอาหารอักเสบ Chronic Gastritis หรือเป็นแผลในกระเพาะ Peptic or Gastric Ulcer นั้น การรักษาสมัยนี้ง่ายขึ้นมาก และน้อยรายที่ต้องถูกผ่าตัด แล้วต้องตัดกระเพาะส่วนที่เป็นแผลออก Gastric Ulcer or Duodenal Ulcer การผ่าเอากระเพาะอาหารออก เรียกว่า Gastrectomy แก๊สเทรคโตมี่ นอกเสียจากว่ามีเลือดออกมากทันทีและไม่หยุดโดยวิธีอื่น ก็ต้องผ่าเข้าไปหยุดเลือดนั่นแหละ

          การรักษา ถ้ารู้ว่าการกินยาพวกแก้ปวดไขข้อ NSAIDS หรือ Aspirin แล้วปวดกระเพาะ ก็หยุดกิน เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น หรือกินแอสไพรินที่มีเปลือกเคลือบไม่ให้ละลายในกระเพาะ แต่ไปละลายในลำไส้ ยารักษาไขข้อแบบใหม่ไม่กัด กระเพาะก็ออกมาขายหลายยี่ห้อ เขาเรียกยาพวกนี้เป็น COX 2 inhibitor ที่มีชื่อก็คือ Vioxx , Celebrex  Bactrex เป็นต้น แต่เสียใจด้วย เพราะคนอเมริกันชอบซู ยาพวกนี้ถูกซูบ่อย ๆ ทั้ง ๆ พิสูจน์ทั้งทางการแพทย์และทางศาลว่าไม่ได้ทำให้เกิดโรคหัวใจ (ไม่ใช่นิติเวช เพราะการซูเอาเงินไม่เกี่ยวกับวิชานี้) บริษัทยาเลยเลิกทำเลิกขาย คงเหลือแต่ยี่ห้อเดียวพอจะซื้อได้คือ Celebrex เท่านั้น

          ถ้าเป็นโรคกระเพาะอักเสบ Peptic Disease ไม่ว่าเป็นมากและนานจนกลายเป็น Gastric Ulcer หรือ Duodenal Ulcer เดี๋ยวนี้พบว่าเกิดจากเชื้อโรคแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ชื่อว่า Helicobacter pylori หรือย่อเป็น H. pylori (ไม่งั้นชวนให้คิดถึงเครื่องบินเฮลิคอบเตอร์) ถึง 75% ซึ่งมีวิธีตรวจได้ในสมัยนี้ โดยให้เป่าลมแล้วมาตรวจดูเรียกว่า Urea breathing test ตรวจเลือดดูตัวต้านทาน Antibody หรืออุจจาระดูตัวก่อความต้านทาน Antigen ของเชื้อโรคนี้ แต่ที่แน่นอนก็ต้องส่องกล้องเอาเยื่อในกระเพาะมาตรวจด้วยกล้องขยายหาตัวเชื้อโรคนี้

          การรักษาก็ไม่ยุ่งยาก หายกว่า 90% ระยะการรักษาก็ไม่กินเวลานาน เพียง 10-14 วันเท่านั้น ยาที่กินก็แล้วแต่หมอจะชอบแบบไหน แต่ที่สำคัญคือต้องมี Pepto Bismol หรือ Histamine H2 receptor antagonist (ก็คือ Tagamet หรือ Pepcid) ยาปฏิชีวนะ ตั้งแต่ Amoxicillin, Tetracycline, Clarithromycin หรือ Metronidazole อย่างใดอย่างหนึ่ง

ยาลดกรดชนิดใหม่สุด ที่เรียกว่า Proton Pump Inhibitor ก็มีขายที่หิ้ง OTC (Over the counter) ก็มี Prilosec ชื้อได้เลย แต่เม็ดละสองดอลลเท่านั้น แต่ที่ต้องมีใบสั่งก็มี Nexium, Provacid และอีกหลายตัว

          การรักษาและกำจัดตัว แบคทีเรียนี่ ผมไม่อยากบอกให้ละเอียด เพราะควรจะให้หมอจัดการรักษาให้ เพราะต้องกินยาหลายตัว และจำนวนให้ถูกต้อง แน่นอนคุณผู้อ่านก็ต้องเสียสตางค์กันละ อย่าโทรศัพท์มาถามเพื่อรักษากันเองเลย อันตราย แล้วผมก็ไม่บอกให้ด้วย

          เมื่อโรคหายก็ควรรักษากระเพาะให้มีอนามัยที่ดี เช่นหยุดเหล้า หยุดสูบบุหรี่ ยาพวกแก้โรคไขข้อที่ไม่มีส่วนผสมหรือเคลือบป้องกันการกัดกระเพาะ โรคนี้อาจเกิดขึ้นใหม่ก็ได้ ก็ต้องรักษากันอีกครั้ง และต้องให้หมอดูว่าไม่เป็นมะเร็งในกระเพาะ หรือโรคอื่น

 

              กลับไป ตอนที่ 6                                                                                   อ่านต่อ ตอนที่ 8             

                    

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2007 Chulalongkorn University Alumni Association of California