สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                              Diarrhea    

                                                                      ตอนที่ 3

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

   

   Diarrhea 3

อาการแบบที่สอง มักจะหยุดเองเหมือนแบบแรก การดูแลตัวเอง ถ้าพักได้ก็ดี แต่มันไม่มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียร ก็พอจะไปเที่ยวหรือตีกอล์ฟเพราะมากับทัวร์ตีกอล์ฟ เสียดายเงิน

 เรื่องน้ำดื่มนี่สำคัญมาก พกไปมาก ๆ  โดยเฉพาะน้ำกระป๋องโซดาพวกนี้แหละ ดื่มมาก ๆ หน่อย อาหารที่ดีก็ต้องก๋วยเตี๋ยวน้ำละครับ เพราะได้ทั้งเกลือ เรื่องก๋วยเตี๋ยวเพราะทำจากแป้งที่สีจนขาว แล้วมาโม่ แล้วทำเป็นก๋วยเตี๋ยว ก็ทำให้ย่อยง่าย เกือบจะเป็นคาร์บอไฮเดรตบริสุทธิ์ จะได้มีแรงไว้ ไม่เหมือนบะหมี่ มันทำจากแป้งสาลี ย่อยช้าหน่อย อย่าสั่งอาหารผัด หรือราดหน้า เพราะมันมีน้ำมันมาก ย่อยยาก อาหารพวกเผ็ด พวกใส่นมหรือพวกครีม ห้ามครับ พวกผลไม้ดิบพวกผักดิบก็อย่าไปแตะต้อง ถ้าพวกผลไม้ก็ต้องแบบสุกแล้วเช่นมันเผา มันต้ม เผือกต้ม กล้วยเผา(ที่เมืองไทยมีกล้วยหักมุกเผาขายกัน เด็ก ๆไทยอายุเท่าผมต้องเคยกินทุกคนเมื่อท้องเสียตอนเด็ก ๆ ) น้ำผลไม้ก็ไม่ดื่ม ยิ่งพวกน้ำองุ่นหมัก ส่วนน้ำชานั่นโอเค เพราะชะลอการบีบตัวของลำไส้ จะได้ไม่ต้องวิ่งบ่อยนัก เพราะพวกนี้เป็นน้ำตาลแบบ ฟรุตโต๊ส Fructose ต้องผ่านการย่อยอีกชั้น ดีไม่มีทำให้ท้องเสียเพิ่มขึ้นอีก

ความรู้รอบตัวสำหรับคนชอบกินก๋วยเตี๋ยวน้ำ ตามลำดับของความทนและอยู่นานของอาหาร ปรากฏว่า เส้นหมี่นี่หิวเร็วที่สุด ต่อมาคือเส้นใหญ่กับเส้นเล็ก เท่ากัน ที่ทนกว่าเพื่อนคือบะหมี่ เกี๊ยวน้ำนี่นอกระบบ เพราะทำด้วยเนื้อหมูสับปนน้ำมันหมู ย่อมย่อยนานที่สุด ตอนท้องเสียอย่ากินนะครับ มันทำด้วยมันหมูเสียกว่าครึ่ง

อย่าพยายามใช้ยาปฏิชีวนะในตอนนี้ นอกเสียว่าเกินสามสี่วันแล้วยังไม่หายก็ต้องหาหมอ หรือหมอตี๋กันละ (ในเมืองไทย) เขามักจะแนะนำให้กินยาตัวใหม่เอี่ยมคือ Cipro เพราะแพงดี แต่ Amoxicillin หรือพวก Bactrim หรือ Septra ถ้าไม่แพ้ ยาพวกเพนนิซิลลินหรือ Sulfa ก็ได้ผลดีมาก

ยาจำพวกลดการขี้ราด แต่ไม่ถึงกับหยุดเลย ก็มีขายตามร้านทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ที่เมืองไทยก็มี พวก Pepto Bismal เป็นยาน้ำ ตัวนี้ปลอดภัยที่สุด ทำหน้าที่ชะลอการถ่าย ส่วนยาหยุดถ่าย Immodium ชื่อgeneric คือ Imperamide อีกตัวที่นิยมเรียกว่า Lomotil ชื่อ generic คือ diphenoxylate ถ้ายาพวกนี้ไม่มี จะใช้ Atropine sulfate เฉย ๆ ก็ยังได้ แก้ทั้งปวดแล้วชะลอลำไส้ได้ นอกนี้ถ้าอยู่เมืองแขก เขาอาจมียาพวกเข้าฝิ่น เรียกว่า Tincture of Codeine ก็ยังได้ แม้กระทั่งยาเข้าโคดีอินเช่นยาแก้ไอ ยาแก้ปวด ที่เรียกว่าเบอร์สามก็ยังช่วยได้ แต่สำคัญอย่ากินมากหวังให้มันหยุดเลย อาจจะทำให้ลำไส้แตกได้ หรือกลายเป็นท้องผูกไปเสีย

อาการแบบที่สาม ก็เป็นโรคท้องร่วง บิด มันสมชื่อจริง ๆ เพราะมันบิดลำไส้เราจริง ๆ ตอนแรก ๆ ก็เป็นน้ำหรืออากาศออกมา ต่อ ๆ มาก็ลดจำนวนน้ำลงแต่จะเบ่งเป็นลมและมูกออกมา มันปวดสมคำว่าบิดจริง ๆ แถมบางรายมีเลือดปนด้วย  เขาทำสถิติไว้ว่าหนึ่งในสิบของนักท่องเที่ยวที่ท้องร่วงอาจจะเป็นโรคบิด มันจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สำคัญอยู่ไม่กี่ตัว คือ Shigella, Salmonella ส่วนเชื้อพยาธิที่โตขึ้นมาหน่อยก็เป็นอมีบ่า ชื่อว่า Ent-ameba histolytica อาการแรก ๆ ก็มีอาการปวดท้อง ปวดเมื่อยตัว ไข้ขึ้น แล้วก็ท้องร่วงเป็นน้ำจำนวนมาก จากนั้นจำนวนน้ำในอุจจาระจะน้อยลงแต่จำนวนการปวดเบ่งอาจมากขึ้น แล้วเริ่มมีมูกและเลือดปน ถ้าเป็นเกินสองวัน หาหมอได้เพื่อตรวจดูว่าใช่บิดหรือเปล่า แล้วเป็นจากชนิดไหน เพราะถ้าเชื้อโรคหรือพยาธิเข้าตับ การรักษาจะยุ่งยากมากขึ้น ซึ่งต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีหลายอย่าง สำหรับพวก แบคทีเรียก็มีพวก Cipro 500 mg วันละสองเวลา ห้าวัน ติดต่อกัน ส่วนเชื้ออมีบ้า เขาใช้ Metronidazole หรือที่ชื่อว่า Flagyl 250 mg วันละสามเวลา แน่นอนต้องกินน้ำทดแทนให้พอ การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสิ่งจำเป็นในโรคบิดแบบนี้

มีตัวพยาธิที่มักจะทำให้ท้องร่วงหลังกลับจากท่องเที่ยวแล้ว เพราะจะมีอาการหลังจากกินน้ำที่มีไขมันอยู่ มันกินเวลาเกือบสิบวันถึงจะสำแดงอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องร่วง อุจจาระเหม็น เลยทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเกิดจากท้องเสียจากการเดินทาง ถ้าหมอที่รู้เรื่องเมืองร้อน ก็จะตรวจอุจจาระดู หรือส่องกล้องเข้าทางกระเพาะ จนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น แล้วเอาเชื้อมาตรวจดู จะพบตัวพยาธิ Giadia lamblia เมื่อพบตัวนี้ ยาที่กินก็ไม่ยุ่งยากนัก คือยาพวก metronidazole (Flagyl) ตัวเดียวกันกับที่ผู้หญิงรักษาพยาธิคันทางช่องคลอด และโรคบิดแบบอมีบ้า

ผมเรียนรู้วิธีทำอาหารจากผู้ใหญ่ เพราะบ้านผมไม่ค่อยมีคนใช้ แม่ลูกต้องช่วยทำครัวกันเองเสียส่วนมาก ผมเลยต้องเรียนรู้ถึงการก่อไฟ โดยใช้ถ่านไม้แบบสมัยก่อน อย่าไปบอกใครเลยว่าเวลาก่อไฟถ่านนี่ควันมันหนาขนาดไหนแล้วไปเจอถ่านที่มีขี้แมวปนอยู่กลิ่นจะเหม็นขนาดไหน วิธีหุงข้าวทั้งเช็ดน้ำและไม่เช็ดน้ำต้องเป็นหมด  เรื่องทอดไข่ ทำไข่พะโล้นี่สบายมาก การทำแกงนั้นยุ่งยากหน่อย เพราะต้องตำเครื่องเทศเครื่องแกงเอาเอง กะทิก็ต้องซื้อที่เครื่องขูดแล้วมาบีบน้ำกะทิเอง แต่ตอนหลังมีเครื่องขูดมะพร้าวไฟฟ้า เลยสบายหน่อ   แม่ผมสอนให้หมด เพราะกลัวลูก ๆ จะอดตายเมื่อโตขึ้น เพราะบ้านผมไม่มีสมบัติจะมาตกทอดให้ลูกหรอก เพราะกลัวว่าไม่ได้เรียนสูงไปเป็นนายเขา อย่างน้อยไปขายข้าวแกงก็ยังไม่อดตาย 

แม่ผมจะต้องขึ้นมาตักบาตรอย่างน้อยสองสามครั้งต่ออาทิตย์ โดยเฉพาะวันพระ และจะต้องทำอาหารเอาไว้ตอนเย็น จะได้ไม่ต้องอุตลุดตอนเช้า เพียงแต่หุงข้าวตอนเช้าก็พอ โดยมากจะทำอาหารแห้งเช่นผัดพริกขิง หมูผัดขิงอ่อนและเห็ดหูหนู ปลาสลิดหรือปลาช่อนทอด เป็นต้น ด้วยสมัยก่อนไม่มีถุงปลาสติคไว้ใส่แกงเผ็ด เมื่อทำอาหารตักบาตรแล้ว ก็มักจะทำแกงเผ็ดหรือหมูสามชั้นไข่พะโล้ไว้สักหม้อสำหรับลูก ๆ กินตอนเช้า หรือใส่ปิ่นโตไปโรงเรียนตอนกลางวัน นี่แหละชีวิตที่จำเจแต่ก็ได้เรียนรู้อะไรต่อมิอะไร ที่จะไม่ให้อดตายตอนโต เรื่องซักและรีดเสื้อผ้าเก่งอยู่แล้ว เพียงแต่หน้าฝน ถ้าไม่แห้งเร็วภายในหนึ่งวันมันก็เหม็นตุ ๆ หน่อยจะเป็นไรไป

แน่นอนอาหารที่ทำไว้ตอนเย็นจะไม่เสียหรือบูดในวันรุ่งขึ้น แม้อากาศร้อนอย่างเมืองไทย และไม่มีตู้เย็นจะเก็บ เก็บได้ก็แต่ในตู้กับข้าว ที่กันแมลงวันและมดเท่านั้น มีหลายข้อที่ผู้ใหญ่สอนไว้ ป้องกันไม่ให้อาหารบูดและเป็นพิษ แม่ผมบอกว่าต้องจำใส่หัวไว้

หนึ่ง เมื่ออาหารไม่ว่าน้ำหรือแห้ง เมื่อสุกแล้วหรือเดือดแล้ว ปล่อยไว้ให้เย็นเอง ห้ามคนเด็ดขาด

สอง ถ้าไม่สามารถกินอาหารชนิดนั้นหมดในวันนั้น ถ้าเป็นอาหารผัดก็เพียงแต่ตักแบ่งออกมา  ตอนตักอาหารให้ตักเป็นด้าน ๆ ไป แต่ถ้าเป็นแกงเผ็ดหรือพวกต้มให้ตักจากบนลงข้างล่าง ตักได้อะไรขึ้นมาก็เอาอย่างนั้นอย่าไปคนหรือเลือกหา

สาม อย่าไปตักเอาไขมันที่หุ้มหรือลอยอยู่อาหารออกทิ้งไป 

สี่ เมื่อกินอาหารไม่หมดในวันรุ่งขึ้น ถ้าเป็นอาหารน้ำให้อุ่นให้เกือบเดือดก่อนเก็บเข้าตู้กับข้าว (แน่นอนต้องรอให้เย็นก่อน เพราะความร้อนจากอาหารจะทำให้อาหารในตู้กับข้าวอื่นเสียหมด) ถ้าก่อนอุ่นมีฟองเกิดขึ้นก็เททิ้งเลยทั้งหม้อ ส่วนอาหารผัดแห้งนั้น ถ้าไม่ไปกวนหรือพลิกมัน มักจะอยู่ได้อีกวัน 

นี่แหละครับวิธีรักษาอาหารแบบสมัยก่อน ยังไม่มีตู้เย็นก็ต้องอาศัยกรรมวิธีแบบนี้แหละครับ เขาเรียกว่า Pasturization เพราะเชื้อแบคทีเรีย มันลอยอยู่ทั่วไปในอากาศ การต้มสุกก็เท่ากับฆ่าเชื้อโรคหมดแล้ว แต่อาหารบางอย่างจะต้มจนสุกไม่ได้ คุณภาพอาหารจะเสีย เช่นน้ำนมสด ถ้าจะฆ่าแบคทีเรียและอาหารไม่เสื่อมคุณภาพ ต้มแค่อุณหภูมิไม่เกิน 70 ดีกรี เซ็นตีเกรด ก็พอในกระป๋องที่ไม่ปิดบิดชิดแล้ว

 เมื่อปล่อยให้อาหารเย็นลง เชื้อโรคก็จะลงมาในอาหารใหม่ ถ้าเราไม่ไปก่อกวนอาหารมัน เชื้อแบคทีเรียถึงจะมีก็เกาะอยู่แต่ที่ผิว ๆ ชั้นบนเท่านั้น มันยากที่จะแทรกซึมลงไปที่ชั้นล่างได้ ยิ่งผู้ใหญ่สอนไว้ว่าไขมันที่ลอยอยู่ชั้นบน อย่าไปตักมันออก เพราะแบคทีเรียไม่ค่อยชอบไขมันเท่าไหร่ มันชอบแต่คาร์บอไฮเดรด-แป้ง กับโปรตีน-เนื้อ มันเกาะอยู่บนไขมันก็ซึมลงไปที่ชั้นล่างไม่ได้ ยิ่งเป็นไขแข็งจับแล้วยิ่งป้องกันดี ตอนกินค่อยตักออกหลังจากอุ่นแล้วก็ได้ ถ้ากลัวตายเร็ว นั่นแหละบ้านผมถึงไม่ค่อยเกิดโรคท้องเสียกันบ่อยนัก

 รูปที่เห็น รูปบนเป็นเชื้อโรคอมีบา ส่วนรูปล่างเป็นเชื้อพยาธิ Giadia

              

              กลับไปตอนที่ 2                                                                                        อ่านต่อ ตอนที่ 4

                    

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2007 Chulalongkorn University Alumni Association of California