สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 
 

                                                สุราก็แปลว่าเหล้า

                                                                                      ตอนที่ 9

                                                                                                        .พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

แอล คาโปน ( Al Capone ) 1

       ถ้าผมเขียนเรื่องขี้เหล้าเมายานี้ แต่ไม่ข้องแวะกับประวัติห้ามกินเหล้าของอเมริกานี่ หรือที่เรียกว่า Prohibition Period เรื่องก็จะไม่สมบูรณ์ แล้วตัวผมก็คงจะต้องลงแดงและนอนท้องอืดไปด้วย

          ไม่ว่าชาติไหนก็รู้ถึงความร้ายกาจของการดื่มสุรา ไม่ว่ารัสเซีย อังกฤษ จีน ต่างก็ได้พยายามออกกฎหมายหรือข้อห้ามการกินเหล้าไว้ แต่ก็ไม่ได้ผล  แต่ดูเหมือนมีประเทศเดียวที่เอาจริงเอาจังถึงกับออกเป็นกฎหมายขนาดเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศทีเดียว เป็น 18th Amendment หรือแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญในปี ค..1919 เดือน January โดยผ่านสภาครองเกรสและก็ผ่านการวีโต้ของประธานาธิบดีด้วย

          มันเริ่มเมื่อชาวต่างประเทศทางยุโรปได้แห่กันย้ายถิ่นฐานมาอยู่ยังอเมริกาเป็นโรบินฮูดหรือกรีนการ์ด  หมู่ชนชาวเยอรมัน ก็เป็นกลุ่มใหญ่ที่นำหน้าเขามาด้วย (ถ้าจะให้ซึ้งถึงการโยกย้ายข้ามน้ำข้ามทะเลของชาวต่างประเทศ ผจญชีวิตใหม่ในอเมริกา ต้องไปหาเพลงคลาสสิคของ ดวอซาก Dvorsak  ชื่อ Symphony No 9 อีกชื่อว่า New World Symphony มาฟังดู ซึ่งจะได้ซึ้งถึงกึ๋นทีเดียว

ชาวเยอรมันพวกนี้ได้นำเอาวิชาเดิมของพวกเขามาด้วย คือวิธีทำเบียร์ชั้นเยี่ยมมาด้วย และที่คนชอบมากคือ Lager Beer คือเป็นเบียร์ที่มีรสเข้มข้น เขาบอกว่ามี body ดี และขมน้อยกว่าเบียร์ธรรมดา แถมตอนนั้นมีเครื่องทำความเย็น สามารถผลิตเบียร์สด Draft Beer ไว้ขายสดๆ เลย คนอเมริกันที่เคยดื่มแต่เหล้ากลั่นและแรงๆ ก็ติดใจรสชาตินี้มาก ทำให้กิจการขายดิบขายดี จนร้านขาย Saloon มีไม่มากพอกับคนดื่ม โรงงานเบียร์ใหญ่ๆจึงลงทุนเปิดร้านขายเบียร์ขึ้นเอง คือเปิดมันทุกหัวมุมถนนเลย

          โรงงานเบียร์ที่โด่งดังสมัยนั้นและยังหลงเหลืออยู่ทุกวันนี้ก็มี  Anheuser-Busch แห่งเซ็นต์หลุยส์  Pabst แห่งมิววอล์คกี้เป์นต้น Saloon มีมากในเมือง เฉลี่ยแล้วทุก 10-15 บ้านจะมีร้าน Saloon แห่งหนึ่ง คือเปิดมันทุกหัวมุมถนนเลยละ และกิจการที่ดีมากก็ต้องเปิดในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะถิ่นอุตสาหกรรม บ้านอกคอกนาไม่มีใครเขาไปเปิดขายกันหรอก  เมื่อมีร้านบาร์มากมาย ต่างก็แข่งขันกันขาย ขายอย่างเดียวไม่พอ ต้องหาวิธีล่อหลอก เอาแค่แถมถั่วมัน ๆ คงไม่พอ เลยแถมมีเกมส์ การพนันมีกะหรี่ด้วย(ผู้หญิงหากิน ไม่ใช่แกงกะหรี่ราดข้าว) บริการด้วย

          นอกจากเบียร์ที่มีดีกรีต่ำแล้ว ยังมีเหล้ากลั่นดีกรีสูงไว้ขายด้วย ฝรั่งนี่ถ้ากินเบียร์เท่านั้นจะไม่เมา เพราะมีดีกรีต่ำแค่ 3-5 % ดื่มมากก็ท้องอืดไปด้วยก๊าซ และต้องเข้าห้องน้ำบ่อย แต่พวกวิสกี้ บรั่นดี จีน วอดก้า พวกนี้จะทำให้เมาเร็วเพราะดีกรีขนาด 45-50 %  ในเมืองใหญ่ๆ สมัยนั้นเลยมีคนเมาเดินกันเต็มเมืองไปหมดหลังเลิกงาน คือเป็น Happy Hours ไปเลย

          ส่วนในเมืองเล็กหรือหมู่บ้านนอก เขาเรียกว่า Rural Areas ชาวบ้านมักจะเป็นชาวไร่ ชาวนา จำพวกเคร่งศาสนาแบบ Evangelical Protestants คือพวกชอบเผยแพร่ศาสนาและมีข้อห้ามดื่มเหล้าด้วย และมีอีกกลุ่มหนึ่งคือพวกแม่บ้านที่ไม่ยอมทนต่อการดื่มเหล้าของผู้ชาย คุณนายพวกนี้เกาะกลุ่มกันทั่วประเทศ ต้องการกำจัดการดื่มเหล้า และได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งตอนนี้มีแค่สามสิบเอ็ดรัฐเท่านั้น  กลุ่มคุณนายนี่เรียกว่า Woman’s Christian Temperance Union พวกนี้ไม่มีผู้แทนในสภาของตัวเอง แต่อาศัยการชักชวน ข่มขู่นักการเมืองในการใช้เสียงเลือกตั้ง เพราะช่วงนั้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่งใกล้จะเลิกแล้ว ผู้ชายก็ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารที่ยุโรป ผู้หญิงเขาได้ทีก็เลยกลายเป็นเสียงข้างมากในการโหวด เลยสามารถบีบนักการเมืองน้อยใหญ่ได้

                                                                         

          กฎหมายบ้านอะไรก็ไม่รู้ ผ่านออกมาได้เมื่อปี 1920 หนึ่งปีหลังสงครามครั้งที่หนึ่งเลิกพอดี ออกภายในวันเดียว ก็สั่งให้ปิดโรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นของชาวเยอรมัน ที่ชาติของเขาเกิดแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งคนอเมริกันเกลียดชังอยู่แล้ว เลยถือโอกาสปิดบาร์เหล้าทั้งหลายหรือถูกทำลาย กฏหมายนี้ออกมาใช้บังคับทันที คือห้ามกลั่น ขาย และขนย้ายเหล้าทุกชนิด ภายในหนึ่งอาทิตย์

          มันก็น่าเห็นใจเหมือนกันที่กฎหมายนี่นอกจากห้ามทำเหล้า ขายเหล้า ขนย้ายแล้ว แถมห้ามดื่มอีกด้วย คนมันเคยดื่มทุกวัน มันจะไปเลิกดื่มได้ง่ายๆ ภายในวันสองวันที่ไหน ต่างก็หาวิธีและเครื่องมือทำเหล้าเอาไว้ดื่มเอง และบางบ้านก็ทำมากพอจะเอาออกขายได้ เลยเรียกเหล้าทำเองว่า Bath Tub Gin มันก็ขายตามข้างถนน ตามตรอกตามซอก ขายดิบขายดี เมื่อขายดีก็มีคนอื่นเลียนแบบทำมาขายกัน ต่างก็รวยกันใหญ่ 

          นักเลงหัวไม้ก็เลยเห็นเป็นโอกาส เก็บค่าคุ้มครองไม่ให้คนอื่นเข้ามาแย่งพื้นที่ขายกัน  ไปๆมาๆ จากนักเลงหัวถนนที่ร่ำรวยจาการรีดไถ คุ้มครอง ก็ตั้งเป็นแก๊ง ทำขายเหล้าเสียเองและบังคับคนขายเดิมต้องซื้อเหล้าจากแก๊งของตัวเอง ไม่งั้นอาจถูกฆ่าตายได้ง่ายๆ เพราะตอนนั้นอเมริกามีโรงงานทำอาวุธสำหรับสงครามมาก โดยเฉพาะที่นิยมกันคือปืน Thompson Machine Gun ที่เคยเห็นกันในหนังกันนั่นแหละ  มีขายเกลื่อนเมืองกันหมด เพราะไม่มีกฎหมายห้ามซื้อขายปืนกัน ต่างก็มีสิทธิครอบครองปืนได้ทุกคน เพราะกฎหมายว่ากันอย่างนั้น

          เมืองใหญ่ที่โด่งดังเรื่องแก๊งก็ต้องยกให้เมืองชิคาโก้ นิวยอร์กและ.ซาน ฟรานซิสโก นั่นแหละ

แก๊งแรกที่ยิ่งใหญ่มือก็เป็นยิว  หัวหน้าชื่อ Arnold Rothstein แต่ตอนหลังถูกฆ่าตายแล้วก็ถูกแทนที่โดยแก๊งอังกฤษ ไอริส หลังจากนั้นก็เป็นเยอรมัน สุดท้ายที่ครองความยิ่งใหญ่ของเจ้ายุทธจักรก็คือพวกอิตาเลียน ที่มาจากเกาะซิชิลี พวกนี้ใจคอโหดเหี้ยม เพราะแต่ละคนก็เคยเป็นอั้งยี่กู้ชาติทั้งนั้น ตอนหลังไม่กู้ชาติก็มากู้แบงก์กันเสียเอง คือกู้แล้วไม่จ่าย พวกนี้เลยมีชื่อหรือโค้ดลับเรียกว่า มาเฟียและคนพวกนี้ก็ย้ายข้ามประเทศมาอเมริกาพร้อมกับชาวอิตาเลียนด้วย เรียกว่าพวกกรีนแบคหรือโรบินฮู้ดแบบพวกเรานั่นแหละ

          คนที่โด่งดังที่สุดในพวกมาเฟีย ก็ต้องอ้ายหน้าบาก( Scar Face ) Al Capone  เพราะมันโดนมีดโกนกรีดหน้าสามแผลเพราะเรื่องผู้หญิง จะเรียกว่ามันเจ้าชู้ก็ไม่แม่น แต่เป็นจำพวกเอาดะไม่ว่าลูกเมียใครเอาทั้งนั้น

 

                     กลับไปตอนที่ 8                                                                            อ่านต่อ  ตอนที่ 10

 

   หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2005 Chulalongkorn University Alumni Association of California