สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                           Osteoporosis 

                                                                   ตอนที่ 1

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

โรคกระดูกพรุน Osteoporosis

ครั้งหนึ่งที่ฝั่งตะวันออกของอเมริกา ในฤดูหนาว ปีนั้นเกิดอากาศปรวนแปร ลมหนาวจากทางคานาดาพัดมาอย่างแรง หนาวมาก หนาวจนถ่านหินที่ใช้ในการเผาเครื่องจักรของรถไฟมันติดกันหมด อีท่าไหนไม่รู้ รถไฟเกิดตกรางตอนเช้าวันหนึ่ง  เพราะการหดตัวของรางเหล็ก แล่นต่อไปไม่ได้ ผู้โดยสารเลยต้องลงจากรถไฟ เดินด้วยเท้าเข้าเมือง ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก แต่เนื่องจากถนนมันลื่นอันเกิดจากหิมะมันละลายตอนกลางวันที่แล้วเมื่อแดดออก  เมื่อเจอความหนาวเมื่อคืนนั้นเลยเป็นลานน้ำแข็งที่ลื่นมาก  เหมือนลานสเก๊ตน้ำแข็ง ผู้โดยสารก็ต้องลงจากรถตู้ มีมากกว่าร้อยคนที่หกล้มก้นกระแทก เพราะต้องเดินผ่านลานน้ำแข็งบนถนน แต่ก็เข้าเมืองจนได้ เพราะมีรถบัสอยู่ไม่ไกลนัก ก็ต่างขึ้นรถบัสแล้วไปต่อรถบัสไปเมืองอื่นกัน

ปรากฏวันนั้นห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลใกล้ ๆ แถวนั้นต้องรับคนไข้คนอายุมาก โดยเฉพาะแหม่มแก่ ๆ กว่าสิบคน อาการที่มาก็คือหกล้มแล้ว ปวดแขนขา ที่ขาก็มักเจ็บที่ตะโพกเมื่อหกล้มก้นกระแทก แล้วลุกไม่ขึ้น หรือปวดบวมที่ข้อมือ เพราะตอนหกล้มเอามือยันกับพื้นก่อนก้นกระแทก  กว่าครึ่งเมื่อเข้าเครื่องตรวจเอ๊กซเรย์ พบว่า เป็นโรคกระดูกหัก ส่วนตะโพกหักที่หัวต่อของกระดูกตะโพกส่วนบน Fractured Neck of Femur ส่วนที่แขนนั้นก็เป็น การหักของข้อมือ Colles fracture แถมมีแหม่มแก่คนหนึ่ง หกล้มก้นกระแทก แล้วเจ็บหลังมาก เอ๊กซเรย์ของกระดูกสันหลังแตกและกระแทกเข้าหากัน Compression fracture of vertebrae และหมออ่านเอ๊กซเรย์ยังลงความเห็นว่าหญิงแก่พวกนี้ในกระดูกกร่อนมาก แม้กระทั่งแรงกระแทกไม่มากนักก็หักได้ เรียกว่ากระดูกพรุนด้วย Osteoporosis (อ๊อสทีโอพโรซิส)

โรคกระดูกพรุนในมนุษย์ มักจะเกิดกับผู้หญิงอายุมาก คือหลังจากประจำเดือนหมด Menopause เมนโนพอส คงมาจาก Menstruations pause (ผมว่าน่าจะเรียกว่า Men no come จะเข้าใจดีกว่า) ที่เป็นอย่างนี้ในผู้หญิง ก็เพราะว่าเมื่อถึงเวลาไม่ต้องทำลูกแล้ว อายุราว ๆ 45-50 รังไข่จะไม่ทำการผลิตไข่อีกต่อไป แม้ต่อมใต้สมองจะกระตุ้นยังไงก็ไม่ได้ผล ฮอร์โมนผู้หญิง Estrogen อีสโตรเจน กับ Progesterone โปรเจสเตอรอน จะลดลงหรือค่อย ๆ หมดไป ด้วยรังไข่ตอนนั้นมันไม่ต้องสร้างไข่แล้ว เนื้อเยื่อที่หุ้มไข่พวกนี้ปรกติมันจะสร้างฮอร์โมนหญิง Estrogen เอสโตรเจ้น มันก็หมดไปด้วย เพราะไข่ไม่ตกอีกแล้ว แม้อีสโตร เย็นจะมีจากแหล่งอื่นเช่นจากต่อมเหนือไต Adrenal glands แต่ก็ไม่พอทำการอยู่ดี

โรค Menopause นี่เกิดแต่ผู้หญิงที่แก่เสียส่วนมาก เพราะขาดฮอร์โมน Estrogen ส่วนผู้ชายเขาไม่เคยมีเมนส์ละครับ ฮอร์โมนของเขาเป็น Androgen ก็เหมือนผู้หญิงนั่นแหละ มันค่อย ๆ หมดไป แต่ไม่หมดเร็วเท่าของผู้หญิง ถ้าผู้ชายขาดฮอร์โมนนี้ก็เกิดกระดูกพรุนได้เหมือนกัน แต่ความรุนแรงน้อยกว่า เคยอ่านหนังสือพิมพ์ไทยว่า มีนางดาราหนังคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าแก่และหมดสวยจะฆ่าตัวตายทันที เออ! ฟังแล้วเศร้าและทุเรศแทนจริง เดาว่าตอนนั้นคงเงินหมด เพราะซื้อของฟุ่มเฟือยและเครื่องประทินผิวเสียหมด และเสี่ย ๆ ไม่ยอมมาอุดหนุนต่อละมั่ง นอกจากความตึงของผิวจะหมดแล้ว ความกำหนัดทางเซ็กซ์ก็พลอยเสื่อมไปด้วย มีอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ อารมณ์เสีย ขี้บ่น เรียกว่า Menopausal syndrome ถ้าอีนางนี่ไม่อยากหนังเหี่ยวก็ต้องฉีดฮอร์โมนบ่อย ๆ ละ ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม

เรื่องกระดูกพรุนนี่ อาจจะเกิดทั้งชายหรือหญิงที่ป่วยและนอนแซ่วอยู่นาน ไม่เกี่ยวกับฮอร์โมนนะครับ เพราะลุกขึ้นเองไม่ไหว เหมือนสมัยก่อน หลังผ่าตัด หมอมักให้นอนพักนาน ๆ ไม่เหมือนสมัยนี้ ผ่าตัดแล้ว ในวันรุ่งขึ้น หมอจะให้ลุกขึ้นยืนหรือเดิน ถ้าทำได้ พวกที่ไม่ออกกำลังกายเลย แคลเซี่ยมก็จะละลายออกจากกระดูก เขาพบว่าการอยู่นอนเพียงหนึ่งเดือนเฉย ๆ กระดูกที่มีแคลเซี่ยมจะละลายออกเกือบครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้โรคหลายอย่างก็ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้

          พวกเป็นโรคของต่อม ไทรอยด์เป็นพิษ คือมีฮอร์โมนมาก ต่ออีกคู่หนึ่งแปะอยู่หลังต่อมไทรอยด์ เรียกว่า Parathyroid พาราไทรอยด์ กลั่นฮอร์โมนมาก พวกต้องกินยาพวก สเตอรอยด์ มาก เพราะโรคไขข้อ โรคของ Autoimmunity ภูมิต้านทานตัวเองที่เกิดในร่างกายเอง เช่น โรครูมาตอยด์ โรค Lupus ลูปัส (SLE) พวกติดเหล้า บุหรี่ นอกนี้คนชอบกินวิตามิน A กับ D วันละมาก ๆ

          ในปรกติ 40% ของกระดูกเป็นโปรตีนที่รวมตัวเป็นเส้นหรือพังผืด แล้วพวกแคลเซี่ยมและฟอสเฟตค่อยมาเกาะเข้ากับโปรตีนที่เป็นโครงพวกนี้ราว ๆ 60% กลายเป็นโครงกระดูกแข็ง

ปรกติกระดูก(คนหรือหมา เหมือนกันหมด) จะมีเซลล์คอยทำลายกระดูกเก่าอยู่เสมอ เขาเรียกว่าเซลล์ Osteoclast อ๊อสทีโอแคลสท์ แล้วก็จะมีเซลล์กระดูกสร้างอีกชนิดหนึ่งคอยสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาแทนที่ เรียกว่า Osteoblast  อ๊อสทีโอแบลสต์ การทำลายแล้วสร้างใหม่นี้จะเห็นได้ชัดในเด็กที่กำลังเติบโตสูงใหญ่ กระดูกใหม่ก็จะยาวและโตขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง ถ้าไม่มีขบวนการนี้ เด็กก็ไม่เจริญไปถึงไหน ตัวไม่สูงและใหญ่ ในเด็กที่อายุภายในหนึ่งขวบ การทำลายจะมากพอ ๆ กับการสร้าง พบว่ากระดูกทั้งตัวจะถูกทำลายหมด แล้วก็สร้างใหม่หมดด้วย คือเรียกว่าเปลี่ยนตัวใหม่กันเลยละ แถมทำให้ตัวใหญ่ขึ้นด้วย ในเด็กที่ยังไม่แตกเนื้อหนุ่มหรือสาว ก็ถูกทำลายไปราว ๆ 30-40% แล้วก็สร้างใหม่ให้ยาวและใหญ่ขึ้น ในผู้ใหญ่ที่โตแล้วก็เกิดขบวนการอย่างนี้เหมือนกัน แต่การทำลายและสร้างจะเท่ากัน แต่พออายุมาก ไม่ว่าผู้แก่หญิงหรือผู้แก่ชายจะมีการทำลายแต่จะสร้างช้าหรือน้อยลง ในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนยิ่งสร้างช้าลงมาก ต้องเรียกว่าขาดทุน เพราะฮอร์โมนหญิงที่ขาดไป ไม่ทำให้แคลเซี่ยมมาเกาะกระดูก กระดูกที่สร้างขึ้นใหม่เลยขาด ๆ ผุ ๆ

กระดูกในร่างกายเรามีอยู่สองอย่างในความแน่นและแข็งแรง อย่างแรกเป็นแบบฝ่อ ๆ เหมือนแบบฟองน้ำ เรียกว่า Spongy bone สปันจี้โบน จะมีแถวกระดูกสันหลัง (Vertebrae เวอทีเบร) พวกนี้เปราะมาก และถูกทำให้พังได้ง่าย อย่างที่สองเรียกว่า Compact bone คอมแพคต์โบน พวกนี้จะเรียบ เป็นกระดูกที่แข็งและแน่น เช่นกระดูกแถวแขนและขา กระดูกซี่โครง กระดูกกะโหลก

         เพราะความแตกต่างของความแข็งแรงนี้ เมื่อเกิดโรคกระดูกพรุน กระดูกที่จะเสียหายก่อนก็ต้องกระดูกสันหลังพวกฟองน้ำนี่แหละ เพราะมีน้ำหนักตัวส่วนบนกดอยู่ และจากการกระแทกกระทั้นในชีวิตประจำวัน กระดูกสันหลังก็จะกดขยี้เข้าหากัน และมักจะมีมากทางด้านหน้าของกระดูกสี่เหลี่ยมพวกนี้ เลยทำให้เกิดกระดูกบางลงทางด้านหน้า หัวและหลังด้านบนก็คงต้องงอไปด้านหน้า เลยทำให้เกิดอาการหลังโก่ง Kyphosis ไคโฟซิส

ส่วนกระดูกแขนขาที่แข็ง(แต่ผุและกรอบ) จะไม่งอ มีแต่หัก และมักจะหักที่ตะโพกมากที่สุด แล้วอันดับต่อมาก็ที่ข้อมือ เมื่อหกล้มก้นกระแทก หรือมือกระแทกพื้นตอนหกล้ม ในสมัยก่อนที่จะมีการเปลี่ยนกระดูกหักที่ตะโพก 40% จะต้องตายจากการเดินไม่ได้ แล้วโรคอื่นก็ตามมา เช่นโรคปอด โรคไต เรื่องติดเชื้อจากผิวหนังเน่า เพราะนอนทับนาน แต่สมัยนี้ สบายมาก เปลี่ยนกระดูกตะโพกได้ด้วยการผ่าตัด ภายในอาทิตย์ก็เดินได้แล้ว

                     

              รูปกระดูกสันหลังที่บางจนมองทะลุได้            รูปของคนที่เป็นโรคกระดูกพรุน หลังมักโก่ง                                                                             

                                                

                                                                                                                         อ่านต่อ ตอนที่ 2

 

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2007 Chulalongkorn University Alumni Association of California