สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                           Fourth of July 

                           วันประกาศอิสระภาพของอเมริกา                           

                                                                   ตอนที่ 4

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

 

การจะปฏิวัติแยกประเทศนั้นไม่ใช่ของกล้วย ๆ อังกฤษย่อมไม่ยอมแหง ๆ อยู่แล้ว ทางเมืองขึ้นก็ได้วางแผนเพื่อแยกเป็นประเทศ ดังที่ได้เล่าถึงแผนการต่าง ๆ คือ หนึ่งการโฆษณาปลุกใจ ให้ชาวอเมริกันเชื่อในเหตุและผลประโยชน์ในการแยกประเทศ แล้วก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงของหนังสือเล่ม Common Sense คงแปลว่าจิตสำนึก ได้ดึงดูดใจให้ชาวอเมริกันได้ร่วมใจกันเสียสละเพื่ออุดมการณ์ แล้วก็ได้ผลมากที่คาดฝันไว้ ก็ได้รับการช่วยเหลือทางเงินทอง ทั้งคนที่สมัครเป็นทหารเพราะใจอยากสู้กับอังกฤษ ข้อที่สองคือให้ต่างประเทศรับรองและช่วยเหลือ ก็ได้ประเทศฝรั่งเศสให้ความช่วยเหลือทั้งเงินทอง อาวุธยุทโธปกร ทหารทั้งทางบกและทางเรือ โดยความสามารถทางการฑูตของนายเบนจามิน บวกทั้งเหตุการณ์ที่ได้ชัยชนะทางการรบที่เมือง Saratoga ที่เมืองขึ้นเวอร์มอนต์ จับทหารอังกฤษได้ถึง ห้าพันคน เป็นการประกันว่าประเทศอเมริกัน นั่นเอาจริงแบบแน่นอน คือยอมเสี่ยงเอาคอเป็นประกันละ นับว่ามันเป็นสิ่งมหัศจรรย์จริง ๆ ของโลกเลยทีเดียว ว่าทหารชาวป่าแบบอเมริกันนี่จะทำได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีคนที่มีเชื้อสายกษัตริย์มาเป็นผู้นำ เป็นการบอกประกาศแก่ชาวโลกว่า ชาวอเมริกันทำได้

ข้อสามและสุดท้ายนี้ คือต้องหาผุ้นำที่ทำการรบรากับอังกฤษซึ่งเป็นอาจเป็นสงครามที่ยากเย็นสิ้นเปลือง กินเวลานาน และเป็นการตอกย้ำให้ชาวอเมริกันถึงการตัดสินใจครั้งนี้ว่าอเมริกาจะไม่มีทางหวนกลับไปเป็นเมืองขึ้นอีก ถ้ารบแพ้ผลจะมีก็คือความตายโดยถูกแขวนคอกันเป็นแถว โดยเฉพาะผู้นำทั้งหลายที่เห็นอยู่ในรูปที่นำมาให้ดู และลูกหลานก็จะถูกกดขี่ให้ลำบากดุจดังทาส ถูกรีดไถทั้งภาษี แรงงาน และอิสระภาพก็จะหมดไปด้วย

          WAR สงครามเป็นสิ่งที่แน่นอน แต่จะต้องมีนายทหารที่เป็นสัญญาลักษณ์ที่ทุกคนนับถือได้ เมื่อมองไปที่เมืองขึ้นทางเหนือแล้วก็ลงมาทางใต้ ก็เจอเข้าหนึ่งท่าน ชื่อว่า George Washington เป็นคนที่มาจากตระกูลร่ำรวยเก่าแก่ของเมืองเวอร์จีเนีย คงต้องเรียกว่าคนทางใต้ คนนี้เคยเป็นทหารเก่าช่วยรบให้กับทหารอังกฤษหลายครั้ง ถึงกับถูกนับถือเป็นฮีโร่ทีเดียว เมื่อครั้งหนึ่งเคยช่วยเหลือกองทัพอังกฤษให้พ้นจากความหายนะ เมื่อกองทัพยกไปรบกับทหารฝรั่งเศสและอินเดียนแดงแถบที่ราบโอไฮโอ Ohio แม่ทัพอังกฤษต้องตายลงในการรบ แล้วท่านจอร์จก็เลยต้องว่าการเป็นผู้นำทัพ เสียเอง แน่นอนก็คงต้องรู้ถึงวิธีระเบียบ การฝึกทหาร ยุทธวิธี  ระบบการทำงานของราชการทหารของอังกฤษดี อาชีพปัจจุบันเป็นเจ้าของไร่ที่ร่ำรวย มีการศึกษาที่ดี เขาถูกฝึกมาทางการสำรวจพื้นที่ ต้องบุกป่าฝ่าดง ตรุยห้วยลำธาร นอกนี้เขายังเรียนวิชาการต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เช่นการคำนวณ เคมี การปกครอง ภูมิศาสตร์ทางทหารและยุทธวิธีการรบ นอกนี้รูปร่างเขาสูงใหญ่บึกบึนขนาดหกฟุตสองนิ้ว หน้าตาดี มีคางที่ใหญ่(เขาถึงว่าคางใหญ่มักจะบึกบึนแข็งแรง ก็ดูจากนักมวยซีครับ) มีเมียเป็นแม่หม้ายที่รวย ไม่มีลูกของตัวเอง มีบ้านแบบแมนชั่นที่เนินเขาเวอร์นอน Vernon ในเมืองขึ้นเวอร์จีเนียร์ และมีตำแหน่งเป็นสมาชิกผู้แทนในเมืองขึ้นนี้ด้วย เป็นชาวไร่ที่ทำมาค้าขึ้นแบบหัวสมัยใหม่ ชอบหาวิชาเกษตรกรรมใหม่ ๆ ของโลกเพื่อทำให้การเพาะปลูกของเขาได้ผลที่สุด ผลิตผลที่ได้จากไร่เป็นฝ้าย ใบยาสูบ ซึ่งเป็นผลิตผลที่ต้องการของตลาดยุโรป แต่เขาขายให้ได้แต่ตลาดอังกฤษเท่านั้น ราคาก็ถูกกด  แถมต้องจ่ายภาษีทางอ้อมอีกด้วย กฎเกณฑ์ของอังกฤษที่คอยกดหัวของชาวอเมริกันมีมากมาย และมีการแบ่งแยกให้เห็นถึงความแตกต่างของผู้แทนของชาวอังกฤษที่ส่งมาปกครองพวกเขาที่อเมริกา โดยไม่ให้มีชาวอเมริกันเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ไม่ว่าการปกครอง การออกกฎระเบียบหรือทบวงการพิพากษา มีทั้งการดูถูกเหยียดหยามและแบ่งแยกในการทำงาน เมื่อมีกฎหมายเรียกว่า Intolerable Acts ซึ่งออกมาหลังจากชาวเมืองบอสตันได้ก่อการกระด้างกระเดื่องต่อประเทศอังกฤษ มีการห้ามไม่ให้มีการก่อตั้งสมาคมและการชุมนุมต่าง ๆ

             เขารู้จักกับนาย Thomas Jefferson ดีเพราะเป็นคนเมืองเดียวกัน และทำการเกษตรเหมือนกัน แถมเป็นผู้แทนด้วยกันในสภาเมืองขึ้นของเวอจีเนียร์ เลยได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกและปรัชญาการปกครองจากนายเจฟเฟอร์สัน ทำให้ความรู้สึกถึงการแยกประเทศมีมากขึ้น

             เขาและนายเจฟเฟอสันได้รับเลือกเป็นผู้แทนพร้อมกับเมืองขึ้นอื่นเพื่อไปที่เมืองฟิลาเดลเฟียปรึกษาเพื่อหาข้อต่อรองกับอังกฤษในหลาย ๆ ปัญหา ครั้งแรกเมื่อเดือน กันยายน 1774 มีการตั้งข้อเรียกร้องต่ออังกฤษ และมีการสัญญาระหว่างเมืองขึ้นต่าง ๆ

             ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ยังไม่ได้คำตอบจากรัฐบาลอังกฤษ ก็เกิดเหตุการณ์การสู้รบกันระหว่างทหารอาสา Militia หรือ Minutemen กับทหารอังกฤษที่ตำรบ Lexington เมืองConcord ในรัฐเมสสาชูเสตต์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 1775 ซึ่งนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่ยิ่ง เท่ากับสงครามทีเดียว ผู้แทนรัฐต่าง ๆ ก็เลยเรียกประชุมเป็นการด่วน เมื่อเดือน มิถุนายน 1775 ในระหว่างการถกเถียงถึงเรื่องการจะสู้รบกับอังกฤษ ท่านบิ๊กจอร์จก็ยืนขึ้นมากลางที่ประชุม กล่าวออกมาว่า ท่านทั้งหลายจะให้ข้าพเจ้าทำอะไรบ้าง เพราะท่านจอร์จเป็นคนไม่พูดมาก แต่พูดในสิ่งที่สำคัญเท่านั้น ผู้แทนของทุกเมืองขึ้นเลยเลือกให้ท่านจอร์จ วอชิงตัน ตามที่ทุกคนหมายตาเอาไว้ ให้เป็น ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทหารทวีปอเมริกา Commander in Chief of the Continental Armies ที่เขาให้ท่านจอร์จเป็นผู้บัญชาการสูงสุด ไม่ใช่เพราะความเก่งกล้าในการรบ แต่เพราะเขาคิดว่าเหมาะสมเพราะเป็นคนชาวภาคใต้ ซึ่งผู้คนทางใต้มักมีความเห็นขัดแย้งกับทางพวกเมืองเหนืออยู่ และท่านจอร์จเกิดเป็นชาวใต้ที่คนทางเหนือพูดกันรู้เรื่องได้ เมื่อให้คนทางใต้เป็นผู้นำทางทหาร ความระแวงต่าง ๆ เกี่ยวกับเมืองขึ้นทางเหนือก็จะน้อยลง

            ต้องเรียกว่าท่านนายพลจอร์จ นำกองทัพทหารผี คือมีแต่ชื่อแต่ไม่มีทหารเลย ไม่มีเงินทอง ต้องคอยเขียนจดหมาย หรือส่งผู้แทนไปที่ฟิลาเดลเฟียขอทุกอย่างที่จะขอได้ ส่วนมากจะไม่ได้ เลยต้องลงโฆษณาหาทหารและเงินทองเอาเอง พอได้เป็นกองทัพ แต่เรียกว่าทหารป่า แต่ละคนมักจะแต่งตัวตามเสื้อผ้าที่มีอยู่ และต้องมีอาวุธติดตัวมาเองด้วย กองทัพมาเป็นล่ำเป็นสันก็ต่อเมื่อหนังสือ มนตร์มหาเสน่ห์ Common Sense ทำให้ชาวอเมริกันเกิดความรักชาติ พร้อมที่จะแยกตัวจากอังกฤษ ก็ได้การสนับสนุนทั้งคนทั้งเงินทอง เมื่อเดือน มกราคม 1776 ทำให้เกิดกองทัพขึ้นมาได้ และก็มากพอที่จะส่งกองทัพนี่ยกขึ้นไปต่อต้านกองทัพอังกฤษที่ยกลงมาทางคานาดาโดยนายพล จอน เบอกอยน์ แล้วเกิดปะทะกันที่แถบ ซาราโตก้า เมืองขึ้น เวอร์มอนต์ เมื่อเดือน ตุลาคม 1776 แล้วได้ชัยชนะครั้งแรก แต่ตอนนั้น นายพลที่นำทัพชื่อว่า Haratio Gate ไม่ได้ออกรบเอง เพราะเป็นนายทหารเกี่ยวกับเสบียงอาหาร แต่คนที่ออกรบจนบาดเจ็บกลับกลายเป็นลูกน้อง ชื่อว่านายพล Benedict Arnold(ตอนหลังกลับกลายเป็นคนขายชาติเสียนี่) ทำให้คนอเมริกันมีกำลังใจมากขึ้น คนสมัครที่จะเข้าเป็นทหารก็มากขึ้นด้วย

           อีกครั้งหนึ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของกองทัพโด่งดังขึ้นก็ตอนคืนคริสต์มาส ปี 1776  เมื่อ จอร์จ วอชิงตันยกกองทัพที่ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำเดลลาแวร์ Delaware River ทางฝั่งเมืองขึ้นเพนซิลเวเนีย คืนวันนั้นอากาศหนาวมาก น้ำในแม่น้ำก็เกือบจะเกาะเป็นน้ำแข็ง ทั้งต้องลากเอาปืนใหญ่ขนาดเล็กขึ้นเรือข้ามฟากไปที่เมือง Trenton ของเมืองขึ้นนิวเจอร์ซี่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทหารต่างชาติเยอรมัน Hessian ซึ่งพวกทหารต่างชาติก็กำลังเมาได้ที่หลังเที่ยงคืนคริสต์มาส ไม่มีเวรยามเฝ้าค่ายเลย เพราะประมาทและดูถูกฝีมือทหารอเมริกันปอน ๆ แบบชาวป่า เพราะไม่มีเวรยาม เมื่อตั้งอาวุธปืนใหญ่ และทำแนวกันทหารเยอรมันหนี แล้วก็ให้ทหารบุกค้นตลุยเข้าไปในค่าย เที่ยวไล่ยิงฆ่าฟันทหารเยอรมันที่หลับนอนกันอยู่เสียมาก และที่เหลือตายก็จับเป็นได้อีกมากมาย ครั้งนี้ได้ยึดอาวุธ กระสุน อาหารสำรอง เสื้อผ้าเครื่องกันหนาว ปืนใหญ่อีกมากมาย คือมีอะไรยึดหมด รวมทั้งอีหนูที่รับจ้างซักเสื้อผ้าและเป็นแม่ครัวอีกด้วย (ดูรูป เมื่อจอร์จนำทัพข้ามแม่น้ำแข็ง Delaware)

            พูดแล้วท่านจอร์จก็ไม่ได้เก่งกล้าขนาดไหน ที่รบชนะก็ส่วนมาก จากความประมาท ดูถูกความเป็นทหารป่าที่โดยมากขาดการศึกษาของชาวอเมริกัน แถมทหารอังกฤษชอบสบายหาแต่ความสุข เรื่องอีหนูนะ ชอบนัก จนลืมหน้าที่ทหารของตน นอกนี้ก็เป็นการวางแผนที่ผิดพลาดที่ร้ายแรง ใช้จิตวิทยาที่ผิด ๆ

            การรบของนายพลจอร์จนั้น จำนวนครั้งที่แพ้มากกว่าชัยชนะเสียอีก แต่โชคดีทุกครั้งที่แพ้ส่วนมากเสียแต่พื้นที่ และเสบียงคลัง ไม่ได้เสียทหารไปมากเพราะทหารอเมริกัน เชี่ยวชาญพื้นที่ป่าหลบเก่ง แทรกซึมไปกับชาวบ้าน หรือเข้าป่าไปเลย

            การที่ท่านจอร์จเป็นนักสำรวจภูมิประเทศที่ชำนาญ และได้ความรู้จากชาวบ้านชาวป่าตลอดเวลาที่เดินทัพ ก็เลยได้เปรียบเมื่อเดินทัพ พร้อมกับมีประชาชนตามชุมนุมสนับสนุนตลอดเวลา บางครั้งการเดินทัพนอกจากทหารประจำการแล้ว พวกอาสาสมัครก็ไปด้วยจำนวนเท่า ๆ กันหรือมากกว่าเสียอีก

            พวกอาสาสมัครเหล่านี้เป็นหน่วยสำคัญในการสืบหาข่าว หาเสบียงอาหาร ติดต่อกับชาวบ้านได้สะดวก และชาวบ้านก็พร้อมใจกันช่วยเหลือ ถ้าได้ข่าวทหารอังกฤษจะผ่านมา ก็จะเผายุ้งฉาง ไม่ให้มีอาหารเหลือสำหรับทหารอังกฤษ ยกย้ายครอบครัวหนีชั่วคราว หรือถ้าอยู่ก็ให้ข่าวคราวและทิศทางเดินที่ผิด ๆ แก่ทหารอังกฤษ ทำให้ทหารอังกฤษโมโหชาวบ้าน มีการทำร้าย ฆ่าฟันกันก็หลาย ยิ่งทำให้ชาวบ้านเกลียดแค้นทหารอังกฤษมากขึ้น ส่วนพวกที่อังกฤษคิดว่าจะเข้าข้างตัว เรียกว่า Royalist หรือ Tory ก็มักจะไม่ค่อยกล้าออกมาช่วยเหลือ เพราะกลัวชาวบ้านที่รักชาติ Patriots จะมาทำร้ายเอาทีหลัง เมื่อกองทัพอังกฤษคล้อยหลังไปแล้ว

            เมื่อทหารอังกฤษไม่สามารถเอาชัยชนะทางเหนือก็บุกลงมาทางเมืองขึ้นภาคใต้ โดยทางทัพเรือ ยึดเมืองหลวงแถวจอร์เจีย แครอไลน่าทั้งเหนือและใต้ และท่าเรือต่าง ๆ แต่ชาวบ้านก็หนีเข้าป่าไปก็มาก นายพลจอร์จ วอชิงตันเลยได้ส่งนายพลมือหนึ่งของเขาชื่อว่า Nathaniel Greene พร้อมกองทัพสามพัน นายพลคนนี้มาจากเมือง Rhode Island รายนี้ใช้การรบแบบกองโจรแท้ ๆ โดยมีทหารอาสาสมัครที่เป็นชาวเมืองใต้ที่ชำนาญกับป่าลำเมาะที่มีน้ำขังเป็นหนองบึง Swamp ในแทบ North and South Carolina

            ส่วนกองทัพอังกฤษทางใต้นี้นั้นนำโดยนายพล Lord Charles Cornwalis คอร์นวาลิส การรบครั้งนี้ได้อาศัยความร่วมมือของชาวบ้านที่มีใจอยากเป็นอิสระอย่างมาก นายพล Greene ของอเมริกาคนนี้เขาจะไม่ยอมปะทะกับทหารอังกฤษแบบประจานหน้า แต่จะก่อกวนแล้วก็หนีไปเรื่อย ๆ จนได้พื้นทีเหมาะและได้เปรียบก็จะตั้งรับรบประจานหน้าสักที ทำให้ทหารอังกฤษเสียหายอยู่เรื่อย การรบในป่าลึกแบบนี้ทหารอังกฤษไม่ชำนาญ ก็ป่วยเป็นโรคท้องร่วง ไข้ป่า ขาดน้ำสะอาด ขาดอาหารจนแทบหมดกำลังกายและใจในการเดินทัพต่อไป คือไล่ตามจับกองทัพของนายพล Greene ไม่ไหว ครั้งนี้เป็นการรบที่เรื้อราง ทำให้อังกฤษต้องเสียชีวิตทหารมากมาย  แล้วการรบแบบกองโจรนี่ก็ทำความเสียหายครั้งสุดท้ายที่ ตำบล Guilford Court House ที่ North Carolina เล่นเอากองทัพของนายพล Cornwallis คอร์นวาลิส แทบหมดตัว เจ้านายทางนิวยอร์ค คนใหม่ชื่อ Sir Henry Clinton ซึ่งเข้ามาแทนที่นายพล Willian Howe (คนที่ทิ้งลูกน้องที่บุกลงมาทางเหนือของคานาดา เพราะตัวเองมัวแต่หลงอีหนูที่ฟีลาเดลเฟีย ก็คนนั้นแหละครับ) เลยสั่งให้เข้าไปตั้งป้อมอยู่ที่ York town ซึ่งเป็นปลายแหลมระหว่างแม่น้ำ James เจมส์ กับปากอ่างของ เช็คสปีคเบย์ Chesapeake Bay ในเมืองขึ้นรัฐเวอจีเนียร์ เพื่อรอให้กองทัพเรือจากนิวยอร์คมาขนทหารอังกฤษที่เหลือกลับไปที่นิวยอร์ค หรือ Charleston

 

.

            กลับไป ตอนที่ 3                                                                                    อ่านต่อ ตอนที่ 5          

          

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2007 Chulalongkorn University Alumni Association of California