สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                          กบในบ่อน้ำ

                                                                                                                                       อรุณ จิรชวาลา

      

           

               อรุณ จิรชวาลา สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่ 1 ของรุ่น หลังจากเรียนที่จุฬาฯ ได่ไม่นาน ก็สอบชิงทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย จบการศึกษากลับมา ทำงานทางด้านการเงิน และการธนาคาร ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายแห่ง ตำแหน่งสุดท้ายคือ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวงไทย ก่อนที่จะลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว อรุณมีผลงานการเขียนมากมาย ทางด้านการเงิน และการธนาคาร ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารชั้นนำของไทย

    _____________________________________________________________________________________________________________________________________

 

            วันก่อนเห็นข่าวเล็กๆ เรื่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบอกว่ายังไม่จำเป็นต้องจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาบริหารทุนสำรอง เพราะทุนสำรองของเรายังมีไม่ถึงหนึ่งแสนล้านเหรียญ
                                                                                                                                              

             ผมฟังแล้วรู้สึกโล่งใจขึ้นมาในระดับหนึ่ง เพราะก่อนหน้านั้นเคยรู้สึกไม่ค่อยสบายใจกับแนวคิดของกลุ่มที่ออกมาผลักดันให้เอาทุนสำรองไปหาประโยชน์ในอัตราที่สูงกว่าการลงทุนในหลักทรัพย์รัฐบาลต่างประเทศ  ผมจำได้ว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อน หลังจากอาณาจักรโซเวียตล่มสลาย ประเทศเล็กประเทศน้อยที่เคยอาศัยร่มโพธิ์ร่มไทรต้องดิ้นรนช่วยตัวเองมากขึ้น มีประเทศหนึ่งคือมองโกเลีย เริ่มต้นด้วยทุนสำรองประมาณ 100 ล้านเหรียญ มีผู้ว่าการธนาคารกลางเป็นคนหนุ่มจบการศึกษาจากประเทศตะวันตก ได้รับคำแนะนำจากนักค้าเงินฝรั่งว่า ควรลงทุนในตลาดแลกเปลี่ยนเพื่อทำให้ทุนสำรองที่มีอยู่เพิ่มพูนขึ้น
 

             ด้วยเครื่องเทเล็กซ์ 1 เครื่อง เขาติดต่อกับห้องค้าเงินในต่างประเทศ สอบถามและขอคำแนะนำเรื่องแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน จากนั้นก็สั่งซื้อสั่งขาย ภายในเวลาไม่นานนัก ทุนสำรองที่มีอยู่ก็ละลายหายไปหมด
 โปรดอย่าแปลกใจ หรือหัวเราะเยาะเขานะครับ เขาซื้อขายเงินตราของประเทศอื่นที่เขาควบคุมไม่ได้ ของเราในช่วงวิกฤตปี 2540 เราซื้อขายเงินบาทของเราเองที่เราควรจะควบคุมได้ เรายังหมดตัวเลยครับ
 ผมแคลงใจมาโดยตลอดว่า ถ้าเรามีหน่วยงานพิเศษที่แบ่งทุนสำรองไปบริหาร กระบวนการลงทุนจะเป็นอย่างไร ทีมลงทุนจะมาจากไหน ใครจะเป็นผู้อนุมัติ จะต้องมีที่ปรึกษาหรือไม่ ฝรั่งหรือไทย
 

             รูปแบบของสิงคโปร์ ที่บางประเทศนำไปใช้เป็นต้นแบบ ผมเชื่อว่าเขาไม่ได้จ้างที่ปรึกษาฝรั่ง ที่เห็นชัดเจนคือ เขามีทีมงานที่ลงไปศึกษาในพื้นที่หรือในประเทศที่จะไปลงทุนโดยละเอียด รวมทั้งได้ข้อมูลจากนักลงทุนสิงคโปร์ที่นำหน้าเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านั้น ของเราผมไม่เชื่อว่าจะมีความพร้อมในเรื่องนี้ เพราะเรายังไม่ได้เริ่มต้นในการพัฒนาและสะสมความรู้
 

             ที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องสำหรับบ้านเราคือเรื่องความโปร่งใส ทั้งในระดับทีมงานและในระดับผู้อนุมัติการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการแทรกแซงทางการเมือง รวมทั้งการวิ่งเต้นของกลุ่มธุรกิจที่แอบอิงการเมือง เรื่องการเมืองกับผลประโยชน์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายในบ้านเมืองของเรา ผมไม่อยากให้ใครมองเห็นทุนสำรองเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์เพิ่มขึ้นมาอีกแหล่งหนึ่ง
 

             อีกด้านหนึ่ง ท่านรัฐมนตรีคลังทำให้ผมดีใจ ที่คำพูดของท่านเท่ากับเป็นการยอมรับความเป็นจริงว่า ทุนสำรองเจ็ดหมื่นกว่าล้านเหรียญที่เรามีอยู่ มันไม่ได้มากมายอะไรนัก คนอื่นๆ รวมทั้งคนแบงก์ชาติชอบออกมาพูดว่า เรามีทุนสำรองอยู่มากมายจนเกินความจำเป็น และการมีทุนสำรองมากเกินไปทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารค่าเงินบาทกับสภาพคล่องในประเทศ จำเป็นต้องหาทางกำจัดออกไปบ้าง โดยการออกมาตรการมาส่งเสริมให้มีการขนเงินออกนอกประเทศ หรือลงโทษต่างชาติที่บังอาจนำเงินเข้ามาในประเทศ ต่างๆเหล่านี้เป็นต้น
 

             ผมเกิดความรู้สึกว่า เราไม่ต่างอะไรจากกบที่ดำผุดดำว่ายอยู่ในบ่อน้ำ ไม่เคยเห็นทะเลมหาสมุทร รู้สึกว่าโลกของเราช่างกว้างใหญ่ไพศาล แต่ทุกๆสิบกว่าปีก็มักจะเกิดภาวะแล้งจัดขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง น้ำในบ่อเหือดหาย ลูกหลานกบแห้งตายกันเป็นเบือ ตัวที่เหลือรอดไปจนถึงฤดูน้ำหลากในปีถัดไป ก็จะออกลูกออกหลานมาดำผุดดำว่ายในโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลของกบ เป็นวัฏจักรเช่นนี้ต่อไป
 

             เราเหมือนกบตรงที่ไม่คิดจะขยายบ่อน้ำ เพื่อให้เก็บกักน้ำได้มากขึ้น เรามองระดับน้ำในบ่อที่สูงขึ้นยามฝนตกเป็นความน่ารำคาญใจ และนำความเดือดร้อนมาให้ เพราะต้องเหนื่อยมากขึ้นในการดำน้ำลงไปก้นบ่อ หรือในการว่ายน้ำจากขอบบ่อด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง
 

             ผมเช็คดูตัวเลขของสิงคโปร์ ประเทศเล็กนิดเดียวเขามีทุนสำรองมากกว่าเราเท่าตัว คือประมาณ 140,000 ล้านเหรียญ แต่นั่นยังไม่หมดนะครับ เทมาเส็ค ที่มาซื้อกิจการสื่อสารในบ้านเรา มีทรัพย์สินสุทธิในต่างประเทศอีกประมาณ 70,000 ล้านเหรียญ ไม่เฉพาะสิงคโปร์นะครับ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี จีน อินเดีย ต่างมีทุนสำรองมากกว่าเรามากๆทั้งสิ้น กลุ่มประเทศเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีลักษณะที่คล้ายกันคือ มีระดับการพัฒนา และ/หรือ มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสูงกว่าเรา ตลอดจนมีอันดับความน่าเชื่อถือหรือเครดิตเรตติงดีกว่าเรา
 เราน่าจะฉุกคิดบ้างว่า การสะสมทุนสำรองอาจจะเป็นกลยุทธสำคัญของญี่ปุ่นในการพัฒนาเศรษฐกิจเมื่อหลายสิบปีก่อน และกลายเป็นต้นแบบให้กลุ่มประเทศที่กล่าวถึงข้างต้นนำมาใช้และประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกัน
 

            ที่สำคัญ ผมไม่เคยเห็นประเทศไหนที่ต้องประสบความหายนะเพราะมีทุนสำรองมากเกินไป
 อาจจะถึงเวลาที่ต้องเลิกคิดอย่างกบแล้วครับ

 

                 
 

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2007 Chulalongkorn University Alumni Association of California